ที่มาของ Kodawari
มาจากคำอธิบายของอาจารย์เคน โมงิ (นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยด้านสมอง ผู้แต่งหนังสือ The Little Book of Ikigai : The secret Japaneseway to live a happy and long life) ได้กล่าวให้ความหมายของโคดาวาริว่าคือ มาตรฐานส่วนบุคคลในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นความใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยในระดับที่ยิ่งใหญ่ หรืออธิบายง่าย ๆ ว่าการทำบางสิ่งบางอย่างให้ออกมาดีที่สุด ด้วยความพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆน้อย ๆ นั่นเอง
ปลูกฝังจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น
จากความหมายของ Kodawari ที่หมายถึงการทำบางสิ่งให้ออกมาดีที่สุดซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นอีกสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อย ๆ ของงาน เพื่อให้งานออกมาไร้ที่ติที่สุดจนกลายเป็นอีกเสน่ห์ของคนประเทศนี้
ยกตัวอย่างเช่นเชฟตามร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีความพิถีพิถันตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการทำหรือแม้แต่การเสิร์ฟเพื่อให้แต่ละมื้อของลูกค้าออกมาในรูปแบบที่ดีที่สุดตลอดจนการบริการของร้านญี่ปุ่นที่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้กับลูกค้าทุกคนสังเกตรายละเอียดต่าง ๆ เช่นถ้าลูกค้าถนัดซ้ายก็จะเสิร์ฟในด้านที่ลูกค้าทานได้อย่างถนัดการเสิร์ฟซูชิของผู้หญิงและผู้ชายก็มีขนาดที่แตกต่างกันเพื่อความสะดวกสบายในการทาน
สะท้อนลักษณะการทำงานของคนญี่ปุ่น
นอกจากนี้แนวคิดของโคดาวาริยังสะท้อนมุมมองเรื่องการทำงานอื่น ๆ ของคนญี่ปุ่นให้ได้เห็นกันนอกเหนือจากความใส่ใจ ความพิถีพิถันที่ต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดทั้งเรื่องการทำงานอย่างเต็มความสามารถ, ให้ความสำคัญกับความตรงต่อเวลา, ไม่ดูถูกงานว่าเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ พร้อมทำให้เต็มที่ และการกล้ายอมรับผิดเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
เรียกได้ว่า โคดาวาริเป็นเหมือนพลังแห่งการขับเคลื่อนของชาวญี่ปุ่น ที่ตั้งใจ ใส่ใจกับทุกอย่างไม่ว่างานจะสำคัญต่อสังคม หรือเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยในชีวิตพวกเขาก็พร้อมที่จะทำสิ่งเหล่านั้นด้วยความตั้งใจอันเปี่ยมล้นและมุ่งมั่นที่จะทำให้สิ่งนั้นให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด